วันนี้ (10 มี.ค. 67) เวลา 12.00 น. ที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านซ่ง อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการธนาคารขยะ และกองทุนสวัสดิการธนาคารขยะ โดยมี นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายพรรณรบ เตชะมงคลาภิวัฒน์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมลงพื้นที่ โอกาสนี้ นายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ประธานแม่บ้ามหาดไทยจังหวัดมุกดาหาร หัวหน้าส่วนราชการ นายสมพงษ์ คุ้มสุวรรณ นายอำเภอคำชะอี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายนิราศ พันธ์ทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านซ่ง พร้อมด้วยคณะกรรมการชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดมุกดาหาร คณะกรรมการชมรมแม่บ้านตำรวจจังหวัดมุกดาหาร และประชาชนในพื้นที่กว่า 500 คน ร่วมให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ เยี่ยมชมนิทรรศการกองทุนธนาคารขยะตำบลคำบก กองทุนธนาคารขยะชุมชนตำบลเหล่าสร้างถ่อ ธนาคารกองทุนคัดแยกขยะตำบลน้ำเที่ยง กองทุนธนาคารขยะชุมชนตำบลบ้านเหล่า กองทุนธนาคารขยะชุมชนตำบลบ้านค้อ กองทุนธนาคารขยะชุมชนตำบลหนองเอียน กองทุนธนาคารขยะชุมชนตำบลโพนงาม พร้อมทั้งมอบแนวทางการขับเคลื่อนธนาคารขยะ และมอบเงินฌาปนกิจสงเคราะห์จากกองทุนธนาคารขยะให้แก่ครอบครัวสมาชิกที่เสียชีวิต
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ที่ได้ให้เกียรติเชิญตนและคณะ เดินทางมาให้กำลังใจท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านซ่ง ตลอดจนถึงผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พนักงาน และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ซึ่งเรื่องการบริหารจัดการขยะเป็นเรื่องใหญ่ โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพยายามเชิญชวนนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยกันเป็นกำลังสำคัญของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ในการบริหารจัดการเรื่องดังกล่าว เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ได้ประกาศเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” ร่วมกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่ายทุกภาคี เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ให้ดำรงชีวิตอย่างไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนในทุกมิติให้กับชีวิต ให้กับชุมชน สังคม และประเทศชาติ
“พวกเราทุกคนเป็นผู้ทำให้เกิดขยะปริมาณมหาศาล ทั้งขยะที่เป็นรูปธรรม และขยะที่เป็นนามธรรม นั่นคือ “ภาวะโลกร้อน” ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยและทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์อันเลวร้ายที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศนานาประการ ที่นักวิชาการกล่าวว่า ภาวะโลกเดือด หรือที่พวกเรารู้จักกันว่า ภาวะโลกร้อน ซึ่งสภาพปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะเราไปทำลายธรรมชาติ ใช้ชีวิตโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสภาพอากาศ ดิน น้ำ ระบบนิเวศ จนทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจนหนาแน่นขึ้น ทำให้โลกเก็บกักความร้อนมากขึ้น ส่งผลทำให้อุณหภูมิอากาศของโลกสูงขึ้น กระทบต่อระบบนิเวศต่าง ๆ และที่หนักหนาสาหัส คือ ปรากฏการณ์นี้จะขยายตัวจนเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ของโลกได้ในอนาคต เพราะน้ำแข็งในขั้วโลกละลาย ซึ่งเรื่องใหญ่มาจากสาเหตุเดียว คือ “ตัวคน” เพราะการใช้ชีวิตของเราทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว เกิดไอร้อน หมอกควันฝุ่นละออง จากการลักลอบเผาวัสดุทางการเกษตร จากทุกพฤติกรรมที่ทำให้อากาศของโลกใบเดียวนี้เปลี่ยนไป เรื่องภาวะโลกร้อนจึงเป็นเรื่องใหญ่ ที่พวกเราทุกคนจะต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่วันนี้ และต้องทำทันที (Action Now)” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวต่ออีกว่า เป็นที่น่ายินดีว่า นับตั้งแต่พวกเราชาวมหาดไทยได้ร่วมกัน Kick-Off จัดตั้งและการขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 67 พร้อมทั้งขับเคลื่อนแนวทางการบริหารจัดการธนาคารขยะ ตามเป้าหมาย “60 วัน 1 อปท. 1 ธนาคารขยะ” ขณะนี้พวกเราประสบผลสำเร็จของการดำเนินการ ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารขยะ ทั้ง 7,773 แห่งทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 100% และในขณะนี้เรามีจำนวนธนาคารขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศแล้ว 14,655 แห่ง นอกจากนี้ นับตั้งแต่กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะ ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการรวม 1,077 ทั่วประเทศ มีรายได้จากการจำหน่ายขยะ รวม 897,521,672.72 บาท รายจ่าย อาทิ ค่าฌาปนกิจ ค่ารักษาพยาบาล และค่าคลอดบุตร 689,425,838.04 บาท คงเหลือ 208,095,834.68 บาท คิดเป็นปริมาณขยะ 1.3 ล้านตัน นอกจากนี้ สามารถดำเนินการจัดทำขยะเปียกจากถังขยะเปียกลดโลกร้อน ที่สามารถลดเศษอาหารได้ถึงวันละ 9 พันตัน หรือคิดเป็น 3.3 ล้านตัน/ปี ซึ่งเราจะได้นำผลความสำเร็จของ อปท. 1,077 แห่งนี้ ขยายผลให้ครอบคลุมครบทั้ง 7,773 แห่งอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
“เป็นที่น่ายินดีว่า องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านซ่ง ภายใต้การนำของ นายนิราศ พันธ์ทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านซ่ง ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ สามารถทำให้พื้นที่ของตำบลบ้านซ่ง เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืน พี่น้องประชาชนในชุมชนสามารถร่วมกันบริหารจัดการขยะ เป็นมนุษย์ มีการใช้ประโยชน์จากธนาคารขยะ จนเกิดผลเป็นรูปธรรม เฉกเช่นเดียวกับ องค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ที่ได้มีนโยบายที่ชัดเจนในการเสริมสร้างพลังความรัก ความสามัคคีของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลโก่งธนู เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดูแลกันของคนในพื้นที่ตามหลัก “การมีส่วนร่วมของประชาชน” หรือ Partnership” ที่ไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ ซึ่งพี่น้องประชาชนทุกคนต่างเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ เเละรักษาสิ่งเเวดล้อม เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดยมีอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ที่เป็นสมาชิกจากทุกครัวเรือน ช่วยดูแลรักษาความสะอาด ภายในเขตตำบลโก่งธนู ทั้ง 14 หมู่บ้าน ซึ่งล้วนเป็นจิตอาสาทำดีด้วยหัวใจ ตามแนวทาง “Change for Good” เปลี่ยนเพื่อโลกที่ดีกว่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความตั้งใจด้วย Passion ที่มาจากใจ ด้วยความเป็นจิตอาสา ที่จะร่วมสร้างสรรค์ให้ชุมชน เเละสังคมเกิดความยั่งยืน ทั้งการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การแยกขยะตามหลัก 3Rs (3ช) คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โดยขยะรีไซเคิลเมื่อนำไปขายก็จะกลายเป็นรายได้กลับคืนสู่ชุมชน เป็นกองทุนสวัสดิการในหมู่บ้าน โดยให้ทุกครัวเรือนมีสมุดเงินฝากประจำบ้าน และเมื่อมีประชาชนเสียชีวิต ก็จะได้รับเงินสวัสดิการจากกองทุนธนาคารขยะดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีการสร้างความมั่นคงทางอาหารผ่าน กระตุ้นปลุกพลังภาคีเครือข่ายการทำงาน พัฒนาคนด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมต่อยอดเเละขยายผลความยั่งยืนไปสู่สังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนสู่หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ที่คนในชุมชนมีความสุข มีรายได้ที่มั่นคง มีภูมิคุ้มกันต่อภัยทางสังคมอย่างยั่งยืนในทุกมิติ อันจะยังผลให้พี่น้องประชาชนทุกคนมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนอีกด้วย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวในช่วงท้ายว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทั้ง 7 อำเภอ เป็น key success ที่สำคัญ ที่จะต้องเป็นผู้นำต้องทำก่อน หลอมรวมพลังบูรณาการทีมของจังหวัด ทีมของอำเภอ ทีมของตำบล และทีมของหมู่บ้าน ภายใต้ชื่อ ทีมบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน นำผลสำเร็จขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านซ่งแห่งนี้ไปใช้ขยายผลยังพื้นที่อื่น ๆ ในพื้นที่ ทำให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืน และในท้ายที่สุด จังหวัดมุกดาหาร จะเป็นจังหวัดที่พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตลอดไป
นายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า การขับเคลื่อนธนาคารขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นนโยบายที่สำคัฐของกระทรวงมหาดไทยเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนคัดแยกขยะรีไซเคิลในครัวเรือน และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย รวมถึงการจัดให้มีระบบจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านอื่น ๆ ภายใต้หลักการ 3Rs คือ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ และรณรงค์สร้างความรับรู้ความเข้าใจให้ประชาชนในทุกพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะและคัดแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิล และขายเพื่อมีรายได้สู่ชุมชน และพัฒนาสู่การจัดตั้งธนาคารขยะ ซึ่งจังหวัดมุกดาหารได้มีการ Kick Off โครงการธนาคารขยะ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ระยะดำเนินการที่ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 54 แห่งได้จัดตั้งธนาคารขยะครบทุกแห่ง ระยะที่ 2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 50 ปีแห่งได้จัดตั้งคณะทำงานและจัดทำระเบียบข้อบังคับครบทุกแห่ง การดำเนินการระยะที่ 3 การเปิดรับสมัครสมาชิกธนาคารขยะประชุมทำความเข้าใจกำหนดการรับซื้อ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งได้ดำเนินการครบทุกแห่ง ในด้านการทวนสอบ “ถังขยะเปียกรถลดโลกร้อน” ของจังหวัดมุกดาหาร ได้ดำเนินการ 82,279 ครัวเรือน ได้รับการตรวจสอบจากคณะผู้ประเมินภายนอก รอบที่ 2 ได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิต 1,547.24 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นายนิราศ พันธ์ทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านซ่ง กล่าวว่า ธนาคารขยะชุมชนตำบลบ้านซ่ง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ปัจจุบันมีระเบียบองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตรง ว่าด้วยการจัดตั้งธนาคารขยะเพื่อพัฒนาสังคม พัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนตำบลบ้านตรง พ.ศ 2564 โดยมีผลการดำเนินงานกองทุนธนาคารขยะชุมชนตำบลบ้านซ่ง ปัจจุบันมีสมาชิก 3,235 คน 647 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 65.88 ของครัวเรือนทั้งหมด ปัจจุบันมีเงินในบัญชีของธนาคารกองทุน 238,370.32 บาท แยกเป็น 1) เงินในสมุดบัญชีสมาชิก 131,821.94 บาท (เงินออม) 2) กำไรสะสมของกองทุน 106,548.38 บาท โดยจากการคำนวณปริมาณขยะรีไซเคิลที่ลดลง 1 เดือนสามารถลดขยะรีไซเคิลได้ประมาณ 7,610 กิโลกรัม (7.61 ตัน) 1 ปีสามารถลดขยะรีไซเคิลได้ประมาณ 91,321 กิโลกรัม (91.32 ตัน )