วันนี้ (15 พฤษภาคม 2566) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมแก่งกระเบา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร นายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ประธานการประชุมคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดมุกดาหาร (กรอ.จ.มห.) ครั้งที่ 3/2566 โดยมีประเด็นสำคัญในการติดตามความคืบหน้าในโครงการ/การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของจังหวัดมุกดาหาร ดังนี้
1. ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างตลาดอินโดจีน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของบประมาณ สำนักงบประมาณ เพื่อเสนอรัฐบาลต่อไปอนุมัติ
2. โครงการก่อสร้างทางรถไฟ บ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม สำหรับจังหวัดมุกดาหาร ได้มีการประชุมคณะกรรมการกำหนดราคาค่าทดแทนและประกาศราคาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีที่ดินที่มีโฉนดต้องเวนคืน 1,215 แปลง ยื่นคำขอรังวัดไปแล้ว 1,097 แปลง รังวัดแล้ว 150 แปลง ใบ รว. ออกแล้ว 89 แปลง โดยคาดว่าจะสามารถทำสัญญาได้ ภายในเดือน พ.ค.66 และจ่ายเงินค่าทดแทนได้ภายในเดือน มิ.ย. 2566 และที่ดิน สปก. 137 แปลง รังวัดเรียบร้อยแล้ว ได้ทำสัญญาและจ่ายเงินค่าทดแทนแล้ว 33 แปลง ทั้งนี้จะได้เริ่มงานก่อสร้าง สัญญาที่ 1 (บ้านไผ่-หนองพอก) มีนาคม 2566 และสัญญาที่ 2 (หนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3) เริ่มเมษายน 2566 และก่อสร้างแล้วเสร็จในมีนาคม 2570 พร้อมเปิดให้บริการเมษายน 2570
3. โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหาร ในการดำเนินงานปี 2566 มีแผนฯ ที่จะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยื่นต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในช่วงเดือนมิถุนายน 2566 คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2573
4. ด้านการพัฒนาพื้นที่ปากห้วยมุก ปัจจุบันมีการวางแผนงานทั้งส่วนของการประตูระบายน้ำปากห้วยมุก ของโครงการชลประทานมุกดาหาร และการออกแบบก่อสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ หรือ สกายวอล์กปากห้วยมุก ของทางสำนักงานโยธาธิการระหว่างเมืองจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งที่ประชุมก็เสนอให้มีการวางแบบ Master plan ทั้งสองโครงการนี้ให้มีทัศนียภาพสวยงามและเป็นประโยชน์
5. การขับเคลื่อนการดำเนินการด้านการศึกษา โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) โดยจะมีการจัดการศึกษา ซึ่งในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร คาดว่าจะพร้อมเปิดทำการเรียนการสอนในวันที่ 1 ก.ค. 2566 เพื่อเป็นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของจังหวัดมุกดาหาร
6. ด้านกลุ่ม YEC มุกดาหาร เสนอให้จังหวัดมุกดาหารมีกิจกรรมการถอดอัตลักษณ์หรือความเป็นตัวตนเฉพาะของโครงการหรือผลิตภัณฑ์ จาก สิ่งต่างๆ ภายในพื้นที่หรืือสินค้านั้นๆ วิเคราะห์จากภาษา การแต่งกาย ความเชื่อ วัฒนธรรม สังคม และอื่นๆ โดยผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ สามารถนำมาต่อยอดเป็นตราสินค้า ลวดลายผ้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ