จังหวัดมุกดาหารจัด พิธีวางพานพุ่มสักการะพระรูปพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย และจัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติ ปี 2566

วันนี้ (26 กุมภาพันธ์ 2566) เวลา 10.00 น. ณ อนุสาวรีย์พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย นิคมสหกรณ์ดงเย็น ตำบลคำอาฮวน อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร นายวลัยพรรณ น้อยสันเทียะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ในฐานะตัวแทนประชาชนจังหวัดมุกดาหาร และขบวนการสหกรณ์ กล่าวสดุดีเทิดพระเกียรติพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ที่ทรงวางรากฐานการสหกรณ์ไทย และเปิดงานวันสหกรณ์แห่งชาติ จังหวัดมุกดาหาร
นางบานใจ มามาก สหกรณ์จังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า งานวันสหกรณ์แห่งชาติ จังหวัดมุกดาหาร ขบวนการสหกรณ์ในจังหวัดมุกดาหาร ร่วมกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดมุกดาหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ ของพระราชวกรมหมื่นพิทยาลงกรณ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย อีกทั้งระลึกและอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุคคลในขบวนการสหกรณ์ ผู้ล่วงลับ รวมถึงเพื่อสร้างจิตสำนึกในอุดมการณ์หลักการ วิธีการสหกรณ์ และความร่วมมือซึ่งกันและกันให้เกิดขึ้นแก่บุคคล องค์กรทุกฝ่าย
กิจกรรมการจัดงานครั้งนี้ประกอบด้วย พิธีเจริญพระพุทธมนต์ ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ พิธีวางพานพุ่มสักการะ กล่าวสดุดีพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย และอ่านสารนายกรัฐมนตรีเนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2566
นายวลัยพรรณ น้อยสันเทียะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ยังได้มอบรางวัลแก่ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการสหกรณ์ มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนบุตรหลานสมาชิกสหกรณ์ มอบเงินโครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ มอบหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.๕) แก่สมาชิกสหกรณ์ มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน พร้อมชมนิทรรศการ ตลอดจนการออกร้านจำหน่ายสินค้าของสมาชิกสหกรณ์อีกด้วย
พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส ทรงเป็นโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ และเจ้าจอมมารดาเลี่ยม ประสูติเมื่อวันพุธที่ 10มกราคม 2419 ขณะทรงมีพระชันษา 5 ชันษา ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านภาษา โดยใฝ่พระทัยค้นหาหนังสือขอมร้อยแก้วเรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ สามก๊ก และเรื่องจีนอื่นๆ มาอ่านขณะเดียวกันได้ทรงโปรดอ่านโคลงกลอน จนสามารถแต่งกลอนได้
พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมี่นพิทยาลงกรณ ขณะทรงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ทรงเห็นว่าการช่วยกู้ฐานะชาวนาให้พ้นจากภาวะหนี้สินพอกพูนได้นั้น ก็คือการจัดตั้งสหกรณ์ ทรงส่งเสริมให้มีการทดลองจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นเป็นแห่งแรก คือ สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ ที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 ทรงดำรงตำแหน่งนายทะเบียนสหกรณ์พระองค์แรก และทรงเป็นผู้นำในการเผยแพร่อุดมการณ์สหกรณ์ การช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันจนเป็นที่แพร่หลายทั่วราชอาณาจักร ทรงส่งเสริมให้มีการกำหนดระเบียบ ข้อบังคับ และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ คอยควบคุมการตรวจสอบบัญชี การรับส่งเงิน และแนะนำวิธีการดำเนินงานสหกรณ์ รวมทั้งพัฒนางานสหกรณ์จนมีการตั้งสหกรณ์อื่น ๆ อย่างแพร่หลายจนได้รับการยกย่องจากขบวนการสหกรณ์ให้เป็น “พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย”
ข่าว – วันวิภา แพงแก้ว ประชาสัมพันธ์จังหวัดมุกดาหาร
ภาพ – สุระณรงค์ อ่อนสนิท
Share: